ประชาสัมพันธ์

ยินดีต้อนรับสู่ กองลูกเสือโรงเรียนหัวหิน ข่าวและกิจกรรมต่าง ๆ ของลูกเสือสามัญรุ่นใหญ่-เนตรนารี ลูกเสือวิสามัญ

วันศุกร์ที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

พระราชบัญญัติลูกเสือ ปี พ.ศ.2551

พระราชบัญญัติ
ลูกเสือ
พ.ศ. ๒๕๕๑

_______________________

ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๑
เป็นปีที่ ๖๓ ในรัชกาลปัจจุบัน

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า

โดยที่เป็นการสมควรปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยลูกเสือ

จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ดังต่อไปนี้

มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติลูกเสือ พ.ศ. ๒๕๕๑”

มาตรา ๒ พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

มาตรา ๓ ให้ยกเลิก
(๑) พระราชบัญญัติลูกเสือ พ.ศ. ๒๕๐๗
(๒) พระราชบัญญัติลูกเสือ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๐๙
(๓) พระราชบัญญัติลูกเสือ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๒๘
(๔) พระราชบัญญัติลูกเสือ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๓๐

มาตรา ๔ ในพระราชบัญญัตินี้
“ลูกเสือ” หมายความว่า เด็กและเยาวชนทั้งชายและหญิง ที่สมัครเข้าเป็นลูกเสือทั้งในสถานศึกษาและนอกสถานศึกษา ส่วนลูกเสือที่เป็นหญิงให้เรียกว่า “เนตรนารี”
“บุคลากรทางการลูกเสือ” หมายความว่า ผู้บังคับบัญชาลูกเสือ ผู้ตรวจการลูกเสือ กรรมการลูกเสือ อาสาสมัครลูกเสือ และเจ้าหน้าที่ลูกเสือ
“รัฐมนตรี” หมายความว่า รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้

มาตรา ๕ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ และให้มีอำนาจออกกฎกระทรวง เพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้
กฎกระทรวงนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้

หมวด ๑
บททั่วไป


มาตรา ๖ ให้มีคณะลูกเสือแห่งชาติ ประกอบด้วย บรรดาลูกเสือทั้งปวงและบุคลากรทางการลูกเสือ

มาตรา ๗ พระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของคณะลูกเสือแห่งชาติ

มาตรา ๘ คณะลูกเสือแห่งชาติ มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาลูกเสือทั้งทางกาย สติปัญญา จิตใจ และศีลธรรม ให้เป็นพลเมืองดี มีความรับผิดชอบ และช่วยสร้างสรรค์สังคมให้เกิดความสามัคคี และมีความเจริญก้าวหน้า ทั้งนี้ เพื่อความสงบสุข และความมั่นคงของประเทศชาติตามแนวทาง ดังต่อไปนี้
(๑) ให้มีนิสัยในการสังเกต จดจำ เชื่อฟัง และพึ่งตนเอง
(๒) ให้ซื่อสัตย์สุจริต มีระเบียบวินัยและเห็นอกเห็นใจผู้อื่น
(๓) ให้รู้จักบำเพ็ญตนเพื่อสาธารณประโยชน์
(๔) ให้รู้จักทำการฝีมือ และฝึกฝนให้ทำกิจการต่างๆ ตามความเหมาะสม
(๕) ให้รู้จักรักษาและส่งเสริมจารีตประเพณี วัฒนธรรม และความมั่นคงของประเทศชาติ

มาตรา ๙ ให้กระทรวงศึกษาธิการ มีหน้าที่ส่งเสริมและสนับสนุนงานของคณะลูกเสือแห่งชาติเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของคณะลูกเสือแห่งชาติ รวมทั้งส่งเสริมและสนับสนุนการดำเนินการของสำนักงานลูกเสือแห่งชาติ สำนักงานลูกเสือจังหวัด สำนักงานลูกเสือเขตพื้นที่การศึกษาสถานศึกษาและหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การจัดกิจกรรมลูกเสือเป็นไปอย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพ

มาตรา ๑๐ ให้กรรมการสภาลูกเสือไทย กรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติ กรรมการลูกเสือจังหวัด และกรรมการลูกเสือเขตพื้นที่การศึกษา ได้รับเบี้ยประชุมและค่าตอบแทนอื่นตามระเบียบที่กระทรวงการคลังกำหนดโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี

หมวด ๒
การปกครอง


ส่วนที่ ๑
สภาลูกเสือไทย


มาตรา ๑๑ ให้มีสภาลูกเสือไทย ประกอบด้วย
(๑) นายกรัฐมนตรี เป็นสภานายก
(๒) รองนายกรัฐมนตรี เป็นอุปนายก
(๓) กรรมการโดยตำแหน่ง ได้แก่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ปลัดกระทรวงกลาโหม ปลัดกระทรวงมหาดไทย ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้บัญชาการทหารอากาศ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เลขาธิการสภาการศึกษา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เลขาธิการสภากาชาดไทย อธิบดีกรมการปกครอง อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ผู้ว่าราชการจังหวัด และผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการลูกเสือชาวบ้าน
(๔) กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจำนวนไม่เกินแปดสิบคนซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งตามพระราชอัธยาศัย
ให้เลขาธิการสำนักงานลูกเสือแห่งชาติ เป็นกรรมการและเลขานุการ รองเลขาธิการและผู้ช่วยเลขาธิการสำนักงานลูกเสือแห่งชาติ เป็นผู้ช่วยเลขานุการ
สภาลูกเสือไทยอาจมีสภานายกกิตติมศักดิ์ อุปนายกกิตติมศักดิ์ และกรรมการกิตติมศักดิ์ซึ่งจะได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง

มาตรา ๑๒ สภาลูกเสือไทยมีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้
(๑) วางนโยบายเพื่อความมั่นคงและความเจริญก้าวหน้าของคณะลูกเสือแห่งชาติ
(๒) ให้คำแนะนำในการปฏิบัติงานของคณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติ
(๓) พิจารณารายงานประจำปีของคณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติ

มาตรา ๑๓ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิตามมาตรา ๑๑ (๔) มีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละสี่ปีนับแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง และเมื่อพ้นจากตำแหน่งอาจทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งอีกได้

มาตรา ๑๔ นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระตามมาตรา ๑๓ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิตามมาตรา ๑๑ (๔) พ้นจากตำแหน่งเมื่อ
(๑) ตาย
(๒) ลาออก
(๓) เป็นบุคคลล้มละลาย
(๔) เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ
(๕) ได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก

ส่วนที่ ๒
คณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติและสำนักงานลูกเสือแห่งชาติ


มาตรา ๑๕ ให้มีคณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติซึ่งเป็นองค์กรบริหารของคณะลูกเสือแห่งชาติ ประกอบด้วย
(๑) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานกรรมการ
(๒) กรรมการโดยตำแหน่ง ได้แก่ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการและปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นรองประธานกรรมการ เลขาธิการสภาการศึกษา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เลขาธิการสภากาชาดไทย ผู้อำนวยการสำนักบริหารงานการศึกษานอกโรงเรียน ผู้อำนวยการสำนักบริหารงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน และผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการลูกเสือชาวบ้าน
(๓) กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจำนวนไม่เกินสิบห้าคนซึ่งสภานายกสภาลูกเสือไทยแต่งตั้งโดยคำแนะนำของกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติตาม (๑) และ (๒) ซึ่งในจำนวนนี้ต้องมาจากภาคเอกชนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง
ให้เลขาธิการสำนักงานลูกเสือแห่งชาติ เป็นกรรมการและเลขานุการ รองเลขาธิการและผู้ช่วยเลขาธิการสำนักงานลูกเสือแห่งชาติ เป็นผู้ช่วยเลขานุการ

มาตรา ๑๖ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิตามมาตรา ๑๕ (๓) มีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละสี่ปีและอาจได้รับแต่งตั้งอีกได้ แต่จะแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งติดต่อกันเกินสองวาระมิได้
ในกรณีที่กรรมการตามวรรคหนึ่งพ้นจากตำแหน่งก่อนครบวาระ ให้ดำเนินการแต่งตั้งกรรมการใหม่ภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่กรรมการพ้นจากตำแหน่ง และให้ผู้ซึ่งได้รับแต่งตั้งอยู่ในตำแหน่งเพียงเท่าวาระที่เหลืออยู่ของผู้ซึ่งตนแทน แต่ถ้าวาระการดำรงตำแหน่งเหลืออยู่น้อยกว่าหนึ่งร้อยแปดสิบวันจะไม่ดำเนินการแต่งตั้งแทนก็ได้
ให้นำบทบัญญัติมาตรา ๑๔ มาใช้บังคับแก่การพ้นจากตำแหน่งของกรรมการตามวรรคหนึ่งโดยอนุโลม

มาตรา ๑๗ คณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติมีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้
(๑) ดำเนินการตามวัตถุประสงค์ของคณะลูกเสือแห่งชาติและตามนโยบายของสภาลูกเสือไทย
(๒) ส่งเสริมความสัมพันธ์กับคณะลูกเสือนานาชาติ
(๓) สนับสนุนและส่งเสริมให้มีการพัฒนาบุคลากรทางการลูกเสือ
(๔) สนับสนุนให้มีการจัดกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง
(๕) จัดการทรัพย์สินของสำนักงานลูกเสือแห่งชาติ
(๖) ให้ความเห็นชอบในการลงทุนเพื่อประโยชน์ของสำนักงานลูกเสือแห่งชาติ
(๗) ออกข้อบังคับของคณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติตามที่ระบุไว้ในพระราชบัญญัตินี้โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา
(๘) วางระเบียบและแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับกิจการลูกเสือ
(๙) จัดทำรายงานประจำปีเสนอสภาลูกเสือไทยพิจารณาตามมาตรา ๑๒ (๓)
(๑๐) แต่งตั้งที่ปรึกษาคณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติ
(๑๑) แต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณาหรือปฏิบัติการตามที่คณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติมอบหมาย
(๑๒) กำกับดูแล สนับสนุนและส่งเสริมกิจการลูกเสือชาวบ้าน
(๑๓) จัดตั้งตำแหน่งกิตติมศักดิ์ และตำแหน่งอื่นใดที่มิได้ระบุไว้ในพระราชบัญญัตินี้
(๑๔) ปฏิบัติการอื่นใดตามที่กฎหมายกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติหรือตามที่คณะรัฐมนตรีมอบหมาย

มาตรา ๑๘ ให้มีสำนักงานลูกเสือแห่งชาติเป็นหน่วยงานของรัฐที่ไม่เป็นส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณหรือกฎหมายอื่น
ให้สำนักงานลูกเสือแห่งชาติมีฐานะเป็นนิติบุคคลและอยู่ในกำกับของกระทรวงศึกษาธิการ
การจัดแบ่งส่วนงานภายในของสำนักงานลูกเสือแห่งชาติให้เป็นไปตามข้อบังคับคณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติ

มาตรา ๑๙ เพื่อประโยชน์ในการดำเนินการของสำนักงานลูกเสือแห่งชาติให้รัฐมนตรีแต่งตั้งรองปลัดกระทรวงศึกษาธิการคนหนึ่งทำหน้าที่เลขาธิการสำนักงานลูกเสือแห่งชาติ และแต่งตั้งผู้บริหารระดับสูงอื่นในกระทรวงศึกษาธิการทำหน้าที่รองเลขาธิการและผู้ช่วยเลขาธิการตามจำนวนที่เหมาะสม โดยการเสนอของเลขาธิการสำนักงานลูกเสือแห่งชาติ
การปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการกระทรวงศึกษาธิการตามวรรคหนึ่ง ให้ถือเป็นการปฏิบัติราชการด้วย

มาตรา ๒๐ สำนักงานลูกเสือแห่งชาติมีอำนาจหน้าที่ดำเนินการตามวัตถุประสงค์ของคณะลูกเสือแห่งชาติและตามนโยบายของสภาลูกเสือไทย รวมทั้งให้มีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้
(๑) ถือกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในทรัพย์สินของคณะลูกเสือแห่งชาติหรือดำเนินการใดๆ เกี่ยวกับทรัพย์สิน
(๒) ทำนิติกรรมสัญญาหรือข้อตกลงอื่น
(๓) รับผิดชอบการดำเนินงานของคณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติ
(๔) ควบคุมดูแลกิจการลูกเสือให้เป็นไปตามกฎหมาย ข้อบังคับ และระเบียบของทางราชการ และคณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติ รวมทั้งถูกต้องตามแบบธรรมเนียมของลูกเสือ
(๕) จัดให้มีการฝึกอบรมหรือการชุมนุมลูกเสือ ผู้บังคับบัญชาลูกเสือและเจ้าหน้าที่ลูกเสือ
(๖) จัดทำรายงานประจำปีพร้อมงบดุลเสนอคณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติ
(๗) จัดให้มีทะเบียนและสถิติต่างๆ เกี่ยวกับลูกเสือ
(๘) ประสานและส่งเสริมสำนักงานลูกเสือจังหวัดและสำนักงานลูกเสือเขตพื้นที่การศึกษา
(๙) ปฏิบัติหน้าที่ตามที่กำหนดไว้ในข้อบังคับและตามมติของคณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติ

มาตรา ๒๑ สำนักงานลูกเสือแห่งชาติมีรายได้ ดังต่อไปนี้
(๑) เงินอุดหนุนทั่วไปที่รัฐบาลจัดสรรให้ตามความเหมาะสมเป็นรายปี
(๒) เงินหรือทรัพย์สินที่มีผู้อุทิศให้
(๓) ค่าบำรุง ค่าธรรมเนียม และค่าบริการอื่นตามข้อบังคับคณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติ
(๔) รายได้หรือผลประโยชน์ที่ได้จากการลงทุนหรือการร่วมลงทุนกับหน่วยงานและบุคคลภายนอก รวมทั้งผลประโยชน์จากทรัพย์สินทางปัญญาของสำนักงานลูกเสือแห่งชาติ
(๕) รายได้หรือผลประโยชน์ที่ได้จากทรัพย์สินของสำนักงานลูกเสือแห่งชาติ และทรัพย์สินที่สำนักงานลูกเสือแห่งชาติปกครอง ดูแล บำรุงรักษา ใช้ และจัดหาประโยชน์
(๖) รายได้หรือผลประโยชน์อื่น

มาตรา ๒๒ บรรดาเงินหรือรายได้ของสำนักงานลูกเสือแห่งชาติไม่เป็นเงินหรือรายได้ที่ต้องนำส่งคลังตามกฎหมายว่าด้วยเงินคงคลังและกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ
การใช้จ่ายเงินหรือรายได้ของสำนักงานลูกเสือแห่งชาติให้เป็นไปเพื่อประโยชน์แก่กิจการลูกเสือตามข้อบังคับคณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติ

มาตรา ๒๓ ให้เลขาธิการสำนักงานลูกเสือแห่งชาติเป็นผู้รับผิดชอบการบริหารงานของสำนักงานลูกเสือแห่งชาติและเป็นผู้บังคับบัญชาพนักงานและลูกจ้างในสำนักงาน รวมทั้งให้มีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้
(๑) ควบคุมดูแลทรัพย์สินของสำนักงานลูกเสือแห่งชาติ
(๒) เสนอรายงานประจำปีเกี่ยวกับผลการดำเนินงานด้านต่างๆ ของสำนักงาน รวมทั้งการเงิน และบัญชี ตลอดจนกระบวนการดำเนินงาน แผนการเงินและงบประมาณของปีถัดไปต่อคณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติ
(๓) เสนอความเห็นต่อคณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติเกี่ยวกับการปรับปรุงกิจการและการดำเนินงานให้มีประสิทธิภาพซึ่งเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของคณะลูกเสือแห่งชาติและตามนโยบายของสภาลูกเสือไทย
(๔) บรรจุ แต่งตั้ง เลื่อน ลด ตัดเงินเดือนหรือค่าจ้าง และลงโทษทางวินัย พนักงานและลูกจ้าง ตลอดจนให้พนักงานและลูกจ้างออกจากตำแหน่ง ทั้งนี้ ตามข้อบังคับคณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติ
(๕) วางระเบียบเกี่ยวกับการดำเนินงานของสำนักงานลูกเสือแห่งชาติ โดยไม่ขัดหรือแย้งกับกฎหมายข้อบังคับ และระเบียบของทางราชการและคณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติ

มาตรา ๒๔ ในกิจการที่เกี่ยวกับบุคคลภายนอก ให้เลขาธิการสำนักงานลูกเสือแห่งชาติ เป็นผู้แทนของสำนักงานลูกเสือแห่งชาติ เพื่อการนี้เลขาธิการสำนักงานลูกเสือแห่งชาติจะมอบอำนาจให้บุคคลใดปฏิบัติหน้าที่เฉพาะอย่างแทนก็ได้ แต่ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติกำหนด

มาตรา ๒๕ กิจการของสำนักงานลูกเสือแห่งชาติไม่อยู่ภายใต้บังคับแห่งกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน กฎหมายว่าด้วยแรงงานสัมพันธ์ กฎหมายว่าด้วยประกันสังคมและกฎหมายว่าด้วยเงินทดแทน

มาตรา ๒๖ การบัญชีของสำนักงานลูกเสือแห่งชาติ ให้จัดทำตามมาตรฐานการบัญชีตามกฎหมายว่าด้วยการบัญชี และต้องจัดให้มีการตรวจสอบเกี่ยวกับการเงิน การบัญชีและการพัสดุของสำนักงานลูกเสือแห่งชาติ ตลอดจนรายงานผลการตรวจสอบให้คณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติทราบอย่างน้อยปีละครั้ง ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติกำหนด

มาตรา ๒๗ ให้สำนักงานลูกเสือแห่งชาติจัดทำงบการเงินตามกฎหมายว่าด้วยการบัญชีส่งผู้สอบบัญชีภายในเก้าสิบวันนับแต่วันสิ้นปีงบประมาณเพื่อตรวจสอบ
ให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินหรือบุคคลภายนอกตามที่คณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติแต่งตั้งด้วยความเห็นชอบจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินเป็นผู้สอบบัญชีของสำนักงานลูกเสือแห่งชาติ และให้ทำการตรวจสอบรับรองบัญชีและการเงินของสำนักงานลูกเสือแห่งชาติทุกรอบปีงบประมาณ แล้วทำรายงานผลการสอบบัญชีเสนอต่อคณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันสิ้นปีงบประมาณทุกปี

ส่วนที่ ๓
ลูกเสือจังหวัด


มาตรา ๒๘ ในแต่ละจังหวัด ให้จัดระเบียบการปกครองลูกเสือตามเขตจังหวัด
สำหรับการจัดระเบียบการปกครองลูกเสือในกรุงเทพมหานครและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีกฎหมายจัดตั้งเป็นรูปแบบพิเศษให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

มาตรา ๒๙ ให้มีคณะกรรมการลูกเสือจังหวัด ประกอบด้วย
(๑) ผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นประธานกรรมการ
(๒) กรรมการโดยตำแหน่ง ได้แก่ รองผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นรองประธานกรรมการปลัดจังหวัด นายกเหล่ากาชาดจังหวัด ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัด นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด นายอำเภอ นายกเทศมนตรี นายกสมาคมการศึกษาเอกชนจังหวัด และผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา
(๓) กรรมการประเภทผู้แทนจำนวนห้าคน ได้แก่ ผู้แทนสถาบันอุดมศึกษา ผู้แทนสถานศึกษาอาชีวศึกษา ผู้แทนค่ายลูกเสือจังหวัด ผู้แทนสมาคมหรือสโมสรลูกเสือ และผู้แทนจากลูกเสือชาวบ้านซึ่งเลือกกันเองกลุ่มละหนึ่งคน
(๔) กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจำนวนไม่เกินสิบคน ซึ่งประธานกรรมการแต่งตั้งโดยคำแนะนำของกรรมการลูกเสือจังหวัดตาม (๒) และ (๓) ในจำนวนนี้จะต้องแต่งตั้งจากภาคเอกชนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง
ให้ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาเขต ๑ เป็นกรรมการและเลขานุการ
ให้ผู้อำนวยการศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนจังหวัด เป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ
หลักเกณฑ์และวิธีการในการเลือกกรรมการตาม (๓) ให้เป็นไปตามข้อบังคับคณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติ

มาตรา ๓๐ ให้นำบทบัญญัติมาตรา ๑๖ มาใช้บังคับกับวาระการดำรงตำแหน่งและการพ้นจากตำแหน่งของกรรมการตามมาตรา ๒๙ (๓) และ (๔) โดยอนุโลม

มาตรา ๓๑ คณะกรรมการลูกเสือจังหวัดมีอำนาจหน้าที่ภายในเขตจังหวัดดังต่อไปนี้
(๑) ควบคุมดูแลกิจการลูกเสือให้เป็นไปตามกฎหมาย ข้อบังคับ และระเบียบของทางราชการและคณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติ
(๒) ส่งเสริมและสนับสนุนความมั่นคงและความเจริญก้าวหน้าของกิจการลูกเสือ
(๓) สนับสนุนและส่งเสริมให้มีการพัฒนาบุคลากรทางการลูกเสือ
(๔) ควบคุมดูแลทรัพย์สินในกิจการของลูกเสือจังหวัด
(๕) พิจารณาคำขอการจัดตั้งค่ายลูกเสือตามมาตรา ๓๒
(๖) พิจารณารายงานประจำปีของสำนักงานลูกเสือจังหวัด
(๗) ให้ความเห็นชอบแผนปฏิบัติการประจำปี
(๘) ให้คำแนะนำผู้อำนวยการลูกเสือเขตพื้นที่การศึกษาในการปฏิบัติงานลูกเสือ
(๙) จัดให้มีทะเบียนและสถิติต่างๆ เกี่ยวกับการดำเนินกิจการลูกเสือ
(๑๐) ออกระเบียบปฏิบัติเกี่ยวกับกิจการลูกเสือ เพื่อความเหมาะสมแก่การปกครองในจังหวัดซึ่งจะต้องไม่ขัดหรือแย้งกับกฎหมาย ข้อบังคับ และระเบียบของทางราชการและคณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติ
(๑๑) จัดทำรายงานประจำปีและรายงานที่เกี่ยวข้องกับกิจการลูกเสือในจังหวัดเสนอต่อคณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติ
(๑๒) แต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใด ตามที่คณะกรรมการลูกเสือจังหวัดมอบหมาย
(๑๓) ปฏิบัติงานอื่นตามที่คณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติมอบหมาย

มาตรา ๓๒ การจัดตั้งค่ายลูกเสือในจังหวัดใดต้องได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากคณะกรรมการลูกเสือจังหวัด และให้คณะกรรมการลูกเสือจังหวัดรายงานต่อคณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติทราบ
การขออนุญาตและการอนุญาตให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติกำหนด

มาตรา ๓๓ ให้มีสำนักงานลูกเสือจังหวัดอยู่ในสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาเขต ๑ โดยมีผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาเขต ๑ เป็นหัวหน้าสำนักงานลูกเสือจังหวัด บังคับบัญชา และรับผิดชอบการดำเนินงานของสำนักงานลูกเสือจังหวัด และให้ผู้อำนวยการศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนจังหวัดเป็นผู้ช่วยหัวหน้าสำนักงานลูกเสือจังหวัด

มาตรา ๓๔ การจัดตั้งค่ายลูกเสือ การขออนุญาต และการอนุญาตสำหรับค่ายลูกเสือในกรุงเทพมหานคร ให้นำบทบัญญัติมาตรา ๓๒ มาใช้บังคับโดยอนุโลม

ส่วนที่ ๔
ลูกเสือเขตพื้นที่การศึกษา


มาตรา ๓๕ ให้มีสำนักงานลูกเสือเขตพื้นที่การศึกษา เพื่อการบริหารงานลูกเสือในเขตพื้นที่การศึกษานั้น

มาตรา ๓๖ ให้มีคณะกรรมการลูกเสือเขตพื้นที่การศึกษา ประกอบด้วย
(๑) ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา เป็นประธานกรรมการ
(๒) กรรมการโดยตำแหน่ง ได้แก่ ผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรของทุกอำเภอในเขตพื้นที่การศึกษา หรือผู้กำกับการสถานีตำรวจนครบาลของทุกสถานีในเขตพื้นที่การศึกษาของกรุงเทพมหานคร
(๓) กรรมการประเภทผู้แทน ได้แก่ ผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้แทนสถานศึกษาในสังกัดเขตพื้นที่การศึกษา ผู้แทนสถานศึกษาเอกชน ผู้แทนสถานศึกษาอาชีวศึกษา ผู้แทนสถาบันอุดมศึกษา ผู้แทนศูนย์บริการการศึกษานอกโรงเรียนอำเภอ ผู้แทนค่ายลูกเสือ และผู้แทนสมาคมหรือสโมสรลูกเสือ ซึ่งเลือกกันเองกลุ่มละหนึ่งคน
(๔) กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจำนวนไม่เกินเจ็ดคน ซึ่งประธานกรรมการแต่งตั้งโดยคำแนะนำของกรรมการตาม (๒) และ (๓) ในจำนวนนี้จะต้องแต่งตั้งจากภาคเอกชนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง
ให้รองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาที่ได้รับมอบหมายเป็นกรรมการและเลขานุการ และให้ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาแต่งตั้งข้าราชการในสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาอีกไม่เกินสองคนเป็นผู้ช่วยเลขานุการ
หลักเกณฑ์และวิธีการในการเลือกกรรมการตาม (๓) ให้เป็นไปตามข้อบังคับคณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติ

มาตรา ๓๗ ให้นำบทบัญญัติมาตรา ๑๖ มาใช้บังคับกับวาระการดำรงตำแหน่งและการพ้นจากตำแหน่งของกรรมการตามมาตรา ๓๖ (๓) และ (๔) โดยอนุโลม

มาตรา ๓๘ ให้คณะกรรมการลูกเสือเขตพื้นที่การศึกษามีอำนาจหน้าที่ภายในเขตพื้นที่การศึกษา ดังต่อไปนี้
(๑) ควบคุมดูแลกิจการลูกเสือให้เป็นไปตามกฎหมาย ข้อบังคับ และระเบียบของทางราชการและคณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติ
(๒) ส่งเสริมและสนับสนุนความมั่นคงและความเจริญก้าวหน้าของกิจการลูกเสือ
(๓) ส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการจัดกิจกรรมลูกเสือทั้งในและนอกสถานศึกษา
(๔) ควบคุมดูแลทรัพย์สินในกิจการของลูกเสือเขตพื้นที่การศึกษา
(๕) พิจารณารายงานประจำปีของสำนักงานลูกเสือเขตพื้นที่การศึกษาและรายงานให้คณะกรรมการลูกเสือจังหวัดทราบ
(๖) ให้ความเห็นชอบในแผนปฏิบัติการประจำปี
(๗) ให้คำแนะนำแก่ผู้อำนวยการสถานศึกษาในการปฏิบัติงานหรือจัดกิจกรรมลูกเสือ
(๘) จัดให้มีทะเบียนและสถิติต่างๆ เกี่ยวกับลูกเสือ
(๙) กำกับดูแล สนับสนุนและส่งเสริมกิจการลูกเสือชาวบ้านในเขตพื้นที่การศึกษา
(๑๐) ออกระเบียบปฏิบัติเกี่ยวกับกิจการลูกเสือ เพื่อความเหมาะสมแก่การปกครองในเขตพื้นที่การศึกษา ซึ่งจะต้องไม่ขัดแย้งกับกฎหมาย ข้อบังคับ และระเบียบของทางราชการและคณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติ

มาตรา ๓๙ ให้มีสำนักงานลูกเสือเขตพื้นที่การศึกษาอยู่ในสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษานั้น โดยมีผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาเป็นหัวหน้าสำนักงานลูกเสือเขตพื้นที่การศึกษาบังคับบัญชาและรับผิดชอบการดำเนินงานของสำนักงานลูกเสือเขตพื้นที่การศึกษา และให้รองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาซึ่งผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามอบหมายเป็นผู้ช่วยหัวหน้าสำนักงานลูกเสือเขตพื้นที่การศึกษา

ส่วนที่ ๕
ทรัพย์สินของสำนักงานลูกเสือแห่งชาติ


มาตรา ๔๐ บรรดาอสังหาริมทรัพย์ที่สำนักงานลูกเสือแห่งชาติได้มาโดยมีผู้อุทิศให้หรือได้มาจากการให้ ซื้อด้วยเงินรายได้ของสำนักงาน หรือแลกเปลี่ยนกับทรัพย์สินของสำนักงานลูกเสือแห่งชาติ หรือได้มาโดยวิธีอื่น ไม่ถือเป็นที่ราชพัสดุ และให้เป็นกรรมสิทธิ์ของสำนักงานลูกเสือแห่งชาติ
การจำหน่ายหรือแลกเปลี่ยนอสังหาริมทรัพย์ของสำนักงานตามวรรคหนึ่งให้กระทำได้ก็แต่โดยพระราชบัญญัติ เว้นแต่เป็นการโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานอื่นของรัฐ เมื่อคณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติไม่ขัดข้องและได้รับค่าตอบแทนจากส่วนราชการรัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานนั้นแล้ว ให้กระทำโดยพระราชกฤษฎีกา

มาตรา ๔๑ ทรัพย์สินที่มีผู้อุทิศให้แก่สำนักงานลูกเสือแห่งชาติจะต้องจัดการตามเงื่อนไขที่ผู้อุทิศให้กำหนดไว้ และต้องเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของสำนักงานลูกเสือแห่งชาติ แต่ถ้ามีความจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขดังกล่าว สำนักงานลูกเสือแห่งชาติต้องได้รับความยินยอมจากผู้อุทิศให้หรือทายาท หากไม่มีทายาทหรือทายาทไม่ปรากฏจะต้องได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติ

มาตรา ๔๒ ทรัพย์สินของสำนักงานลูกเสือแห่งชาติไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดี และบุคคลใดจะยกอายุความขึ้นเป็นข้อต่อสู้กับสำนักงานลูกเสือแห่งชาติในเรื่องทรัพย์สินมิได้

หมวด ๓
การจัดกลุ่ม ประเภท และตำแหน่งลูกเสือ


มาตรา ๔๓ การตั้ง การยุบ การจัดหน่วยลูกเสือ เหล่าลูกเสือ และประเภทลูกเสือทั้งปวงให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง

มาตรา ๔๔ การเข้าเป็นลูกเสือ การออกจากลูกเสือ การจัดประเภท ชั้น เหล่า และการฝึกอบรมลูกเสือในสถานศึกษาหรือนอกสถานศึกษา ให้เป็นไปตามข้อบังคับคณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติ

มาตรา ๔๕ ตำแหน่งผู้บังคับบัญชาลูกเสือมีลำดับ ดังต่อไปนี้
(๑) ผู้อำนวยการใหญ่
(๒) รองผู้อำนวยการใหญ่
(๓) ผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่
(๔) ผู้อำนวยการลูกเสือจังหวัด
(๕) รองผู้อำนวยการลูกเสือจังหวัด
(๖) ผู้ช่วยผู้อำนวยการลูกเสือจังหวัด
(๗) ผู้อำนวยการลูกเสือเขตพื้นที่การศึกษา
(๘) รองผู้อำนวยการลูกเสือเขตพื้นที่การศึกษา
(๙) ผู้อำนวยการลูกเสือโรงเรียน
(๑๐) รองผู้อำนวยการลูกเสือโรงเรียน
(๑๑) ผู้กำกับกลุ่มลูกเสือ
(๑๒) รองผู้กำกับกลุ่มลูกเสือ
(๑๓) ผู้กำกับกองลูกเสือ
(๑๔) รองผู้กำกับกองลูกเสือ
(๑๕) นายหมู่ลูกเสือ
(๑๖) รองนายหมู่ลูกเสือ

มาตรา ๔๖ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเป็นผู้อำนวยการใหญ่ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เป็นรองผู้อำนวยการใหญ่ และรองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เป็นผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่
ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้อำนวยการลูกเสือจังหวัด รองผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นรองผู้อำนวยการลูกเสือจังหวัด และปลัดจังหวัด เป็นผู้ช่วยผู้อำนวยการลูกเสือจังหวัด
ให้ผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษาเป็นผู้อำนวยการลูกเสือเขตพื้นที่การศึกษาและรองผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษาเป็นรองผู้อำนวยการลูกเสือเขตพื้นที่การศึกษา
การแต่งตั้งผู้บังคับบัญชาลูกเสือตามมาตรา ๔๕ (๙) ถึง (๑๖) ให้เป็นไปตามข้อบังคับคณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติ

มาตรา ๔๗ ตำแหน่งผู้ตรวจการลูกเสือมีลำดับ ดังต่อไปนี้
(๑) ผู้ตรวจการใหญ่พิเศษ
(๒) ผู้ตรวจการใหญ่
(๓) รองผู้ตรวจการใหญ่
(๔) ผู้ตรวจการลูกเสือประจำสำนักงานลูกเสือแห่งชาติ
(๕) รองผู้ตรวจการลูกเสือประจำสำนักงานลูกเสือแห่งชาติ
(๖) ผู้ช่วยผู้ตรวจการลูกเสือประจำสำนักงานลูกเสือแห่งชาติ
(๗) ผู้ตรวจการลูกเสือจังหวัด
(๘) รองผู้ตรวจการลูกเสือจังหวัด
(๙) ผู้ช่วยผู้ตรวจการลูกเสือจังหวัด
(๑๐) ผู้ตรวจการลูกเสือเขตพื้นที่การศึกษา
(๑๑) รองผู้ตรวจการลูกเสือเขตพื้นที่การศึกษา

มาตรา ๔๘ ให้นายกรัฐมนตรีเป็นผู้ตรวจการใหญ่พิเศษ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นผู้ตรวจการใหญ่ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ อธิบดีกรมการปกครอง และอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เป็นรองผู้ตรวจการใหญ่
การแต่งตั้งผู้ตรวจการลูกเสือและการกำหนดหน้าที่ของผู้ตรวจการลูกเสือตามมาตรา ๔๗ (๔) ถึง (๑๑) ให้เป็นไปตามข้อบังคับคณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติ

มาตรา ๔๙ ผู้ตรวจการลูกเสือมีหน้าที่ตรวจตรา แนะนำ ชี้แจง และรายงานเพื่อให้การบริหารงานลูกเสือเป็นไปตามนโยบาย ข้อบังคับ ระเบียบ และแบบธรรมเนียมของลูกเสือ

หมวด ๔
ธง เครื่องแบบ และการแต่งกาย


มาตรา ๕๐ ให้มีธงคณะลูกเสือแห่งชาติ และธงลูกเสือประจำจังหวัดโดยรับพระราชทานจากประมุขของคณะลูกเสือแห่งชาติ
ให้มีธงคณะลูกเสือไทยและธงลูกเสืออื่นๆ เพื่อประโยชน์ในการร่วมกิจกรรมระดับนานาชาติ ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

มาตรา ๕๑ เครื่องแบบและการแต่งกายลูกเสือ ให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

มาตรา ๕๒ ลูกเสือต้องปฏิบัติตามวินัยซึ่งกำหนดไว้ในข้อบังคับคณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติ และตามแบบธรรมเนียมของลูกเสือ

หมวด ๕
เหรียญลูกเสือ และการยกย่องเชิดชูเกียรติ


มาตรา ๕๓ ให้มีเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นสิริยิ่งรามกีรติ ลูกเสือสดุดี ชั้นพิเศษไว้สำหรับพระราชทานแก่ผู้ที่ได้รับพระราชทานเหรียญลูกเสือสดุดีชั้นที่หนึ่งและได้มีอุปการคุณช่วยเหลือกิจการลูกเสืออย่างต่อเนื่องมาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปี นับแต่วันที่ได้รับพระราชทานเหรียญลูกเสือสดุดีชั้นที่หนึ่ง

มาตรา ๕๔ เครื่องราชอิสริยาภรณ์ตามมาตรา ๕๓ เป็นดวงตรา ด้านหน้ามีลักษณะเป็นรูปไข่พื้นลงยาสีน้ำเงิน ขนาดกว้าง ๒.๕ เซนติเมตร ยาว ๓.๓ เซนติเมตร กลางดวงตรามีตราหน้าเสือประกอบวชิระเงินล้อมด้วยเม็ดไข่ปลาสีทองและมีรัศมีเงินโดยรอบแปดแฉกคั่นด้วยกระจังสีทองเบื้องบนมีพระมหามงกุฎรัศมีฉลุโปร่งและเลข “๙” สีทอง ด้านหลังกลางดวงตราเป็นดุม พื้นลงยาสีม่วงมีรูปตราของคณะลูกเสือโลก เบื้องล่างมีอักษรสีเงินว่า “เราจะทำนุบำรุงกิจการลูกเสือสืบไป” ที่ขอบส่วนบนของดวงตรามีห่วงห้อยแพรแถบสำหรับคล้องคอ ขนาดกว้าง ๔ เซนติเมตร มีริ้วสีเหลืองกว้าง ๒.๒ เซนติเมตร อยู่กลางริมทั้งสองข้างมีริ้วสีขาวกว้าง ๓ มิลลิเมตร และริ้วสีดำ กว้าง ๖ มิลลิเมตร

มาตรา ๕๕ ให้มีเหรียญลูกเสือสรรเสริญเป็นเครื่องราชอิสริยาภรณ์ไว้สำหรับพระราชทานแก่ลูกเสือและบุคลากรทางการลูกเสือผู้มีความดีความชอบตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๕๗

มาตรา ๕๖ เหรียญลูกเสือสรรเสริญเป็นเหรียญเงินมีลักษณะกลมรี ขนาดกว้าง ๒.๕ เซนติเมตร ยาว ๓.๒ เซนติเมตร ด้านหน้าตรงกลางมีตราหน้าเสือประกอบวชิระ ริมขอบส่วนบนมีอักษรว่า “ลูกเสือ” และส่วนล่างมีอักษรว่า “เสียชีพอย่าเสียสัตย์” ตราหน้าเสือประกอบวชิระและตัวอักษรให้ทำเป็นลายดุน ด้านหลังเป็นพื้นเกลี้ยงจารึกนาม เลขหมายประจำตัวของผู้ซึ่งได้รับพระราชทานนามหน่วยลูกเสือที่สังกัด และวันที่พระราชทาน ที่ขอบส่วนบนของเหรียญมีห่วงห้อยแพรแถบ ขนาดกว้าง ๒.๔ เซนติเมตร มีริ้วสีดำกว้าง ๑.๒ เซนติเมตร อยู่กลาง ริมทั้งสองข้างมีริ้วสีเหลือง กว้าง ๖ มิลลิเมตร ประดับที่อกเสื้อเหนือปกกระเป๋าเบื้องซ้าย
เหรียญลูกเสือสรรเสริญ มีลำดับเป็นสามชั้น ดังต่อไปนี้
ชั้นที่หนึ่ง มีเฟลอร์เดอลีส์ ทำด้วยโลหะเงินประดับที่แพรแถบสองดอกตามแนวนอน
ชั้นที่สอง มีเฟลอร์เดอลีส์ ทำด้วยโลหะเงินประดับที่แพรแถบตรงกึ่งกลางหนึ่งดอก
ชั้นที่สาม ไม่มีเฟลอร์เดอลีส์ประดับที่แพรแถบ

มาตรา ๕๗ เหรียญลูกเสือสรรเสริญชั้นที่หนึ่ง จะพระราชทานแก่ผู้มีความดี ความชอบซึ่งได้ทำการรักษาความปลอดภัยหรือสันติสุขเพื่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์หรือได้ช่วยชีวิตผู้ตกอยู่ในอันตราย ทั้งนี้ โดยตนเองได้ฝ่าอันตรายจนถึงขนาดที่สมควรได้รับพระราชทานเหรียญนี้ หรือตนเองได้ประสบอันตรายถึงทุพพลภาพหรือถึงเสียชีวิต
เหรียญลูกเสือสรรเสริญชั้นที่สอง จะพระราชทานแก่ผู้มีความดีความชอบซึ่งได้ช่วยชีวิตผู้ตกอยู่ในอันตรายโดยตนเองได้ประสบอันตรายหรือฝ่าอันตราย หรือแก่ผู้ซึ่งได้ทำความดีความชอบในข้อต่อไปนี้ ทุกข้อรวมกันไม่น้อยกว่าหนึ่งร้อยครั้ง และในแต่ละข้อไม่น้อยกว่าสิบครั้ง คือ
(๑) ช่วยเหลือผู้ได้รับทุกข์ยากลำบากที่ควรช่วย
(๒) ช่วยเหลือหรือป้องกันผู้อื่นหรือทรัพย์สินของผู้อื่นให้พ้นอันตราย
(๓) ช่วยสัตว์ให้พ้นจากการทรมานหรือพ้นทุกขเวทนา
(๔) ทำการปฐมพยาบาล
(๕) ช่วยเหลือราชการ
(๖) ช่วยเหลือกิจการอันเป็นสาธารณกุศล
(๗) ช่วยเหลือผู้ปกครอง
(๘) ช่วยเหลือกิจการต่างๆ ของโรงเรียน หรือสถานที่ทำงานซึ่งไม่ใช่หน้าที่ตามปกติ
เหรียญลูกเสือสรรเสริญชั้นที่สาม จะพระราชทานแก่ผู้มีความดีความชอบซึ่งได้ช่วยชีวิตผู้ตกอยู่ในอันตรายแม้เพียงครั้งเดียว หรือแก่ผู้ซึ่งได้ทำความดีความชอบตามเกณฑ์สำหรับเหรียญลูกเสือสรรเสริญชั้นที่สอง ทุกข้อรวมกันไม่น้อยกว่าห้าสิบครั้งและในแต่ละข้อไม่น้อยกว่าห้าครั้ง

มาตรา ๕๘ ให้มีเหรียญลูกเสือสดุดีเป็นเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ไว้สำหรับพระราชทานแก่บุคลากรทางการลูกเสือและบุคคลอื่นบรรดาที่มีอุปการคุณต่อการลูกเสือถึงขนาด หรือที่ได้อุทิศกำลังกายหรือกำลังความคิดในการประกอบกิจการให้บังเกิดคุณประโยชน์แก่การลูกเสือตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๖๐

มาตรา ๕๙ เหรียญลูกเสือสดุดีเป็นเหรียญเงิน มีลักษณะกลมรีขนาดกว้าง ๒.๕ เซนติเมตร ยาว ๓.๒ เซนติเมตร ด้านหน้าตรงกลาง มีตราหน้าเสือประกอบวชิระ ริมขอบส่วนบนมีอักษรว่า “ลูกเสือ” และส่วนล่างมีอักษรว่า “เสียชีพอย่าเสียสัตย์” ตราหน้าเสือประกอบวชิระและตัวอักษรให้ทำเป็นลายดุน ด้านหลังเป็นพื้นเกลี้ยงจารึกนามของผู้ซึ่งได้รับพระราชทานและวันที่พระราชทานที่ขอบส่วนบนของเหรียญมีห่วงห้อยแพรแถบ ขนาดกว้าง ๒.๔ เซนติเมตร มีริ้วสีเหลือง กว้าง ๑.๒ เซนติเมตร อยู่กลาง ริมทั้งสองข้างมีริ้วสีดำกว้าง ๖ มิลลิเมตร ประดับที่อกเสื้อเหนือปกกระเป๋าเบื้องซ้าย
เหรียญลูกเสือสดุดี มีลำดับเป็นสามชั้น ดังต่อไปนี้
ชั้นที่หนึ่ง มีเข็มวชิระ ทำด้วยโลหะเงิน ประดับที่แพรแถบตรงกึ่งกลางในแนวทางดิ่งหนึ่งเข็ม
ชั้นที่สอง มีเข็มหน้าเสือ ทำด้วยโลหะเงิน ประดับที่แพรแถบตรงกึ่งกลางในแนวทางดิ่งหนึ่งเข็ม
ชั้นที่สาม ไม่มีเข็มวชิระและเข็มหน้าเสือประดับที่แพรแถบ

มาตรา ๖๐ เหรียญลูกเสือสดุดีชั้นที่หนึ่ง จะพระราชทานแก่ผู้ที่มีอุปการคุณต่อการลูกเสือถึงขนาด หรือที่ได้อุทิศกำลังกาย หรือกำลังความคิดในการประกอบกิจการให้บังเกิดคุณประโยชน์แก่การลูกเสืออย่างยิ่งตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติกำหนด
เหรียญลูกเสือสดุดีชั้นที่สอง จะพระราชทานแก่ผู้ที่มีอุปการคุณต่อการลูกเสืออย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้
(๑) บริจาคเงินหรือทรัพย์สิ่งของต่างๆ ครั้งเดียวหรือหลายครั้ง รวมกันเป็นจำนวนเงินไม่น้อยกว่าที่คณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติกำหนด
(๒) ช่วยเหลือเป็นอย่างดีในการฝึกอบรมผู้บังคับบัญชาลูกเสือระดับที่หนึ่งวิชาผู้กำกับลูกเสือขั้นความรู้เบื้องต้นหรือขั้นความรู้ชั้นสูง โดยอยู่ประจำตลอดการฝึกอบรมไม่น้อยกว่าห้าสิบครั้ง หรือระดับที่สอง การให้การฝึกอบรมแก่ผู้ที่ผ่านการฝึกอบรมวิชาผู้กำกับลูกเสือแล้ว โดยอยู่ประจำตลอดการฝึกอบรมไม่น้อยกว่ายี่สิบครั้ง
(๓) ช่วยเหลือกิจการลูกเสือด้านอื่นๆ จนเกิดผลดีแก่การลูกเสือติดต่อกันมาไม่น้อยกว่าห้าปี และปีหนึ่งๆ ไม่น้อยกว่าสิบครั้ง
(๔) ช่วยเหลือและส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างคณะลูกเสือไทยกับคณะลูกเสือต่างประเทศเป็นอย่างดียิ่ง
เหรียญลูกเสือสดุดีชั้นที่สาม จะพระราชทานแก่ผู้ที่มีอุปการคุณต่อการลูกเสืออย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้
(๑) บริจาคเงินหรือทรัพย์สิ่งของต่างๆ ครั้งเดียวหรือหลายครั้ง รวมกันเป็นจำนวนเงินไม่น้อยกว่าที่คณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติกำหนด
(๒) ช่วยเหลือเป็นอย่างดีในการฝึกอบรมผู้บังคับบัญชาลูกเสือระดับที่หนึ่งวิชาผู้กำกับลูกเสือขั้นความรู้เบื้องต้นหรือขั้นความรู้ชั้นสูง โดยอยู่ประจำตลอดการฝึกอบรมไม่น้อยกว่ายี่สิบห้าครั้ง หรือระดับที่สอง การให้การฝึกอบรมแก่ผู้ที่ผ่านการฝึกอบรมวิชาผู้กำกับลูกเสือแล้ว โดยอยู่ประจำตลอดการฝึกอบรมไม่น้อยกว่าสิบครั้ง
(๓) ช่วยเหลือเป็นอย่างดีในการฝึกอบรมวิชานายหมู่ลูกเสือหรือวิชาลูกเสือประเภทต่างๆ โดยอยู่ประจำตลอดการฝึกอบรมครั้งละสามวัน ไม่น้อยกว่าห้าสิบครั้ง
(๔) ช่วยเหลือกิจการลูกเสือด้านอื่นๆ จนเกิดผลดีแก่การลูกเสือติดต่อกันไม่น้อยกว่าสามปี และปีหนึ่งๆ ไม่น้อยกว่าห้าครั้ง
(๕) ช่วยเหลือและส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างคณะลูกเสือไทยกับคณะลูกเสือต่างประเทศเป็นอย่างดี

มาตรา ๖๑ ให้มีเหรียญลูกเสือยั่งยืนเป็นเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ไว้สำหรับพระราชทานเป็นบำเหน็จความชอบในราชการให้แก่บุคลากรทางการลูกเสือที่ปฏิบัติหน้าที่อย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่าสิบห้าปี ด้วยความวิริยะอุตสาหะ ทำงานด้วยความเรียบร้อย ไม่เกิดความเสียหาย ก่อให้เกิดผลดีต่อกิจการลูกเสือ ตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติกำหนด

มาตรา ๖๒ เหรียญลูกเสือยั่งยืน มีลักษณะเป็นเหรียญเงินรูปหกเหลี่ยมตัวเหรียญหมุนได้ ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง ๓.๓ เซนติเมตร มีมุมแหลมอยู่ด้านบนติดกับห่วงห้อยร้อยแพรแถบมีขอบสองชั้น ด้านหน้ากลางเหรียญมีหน้าเสือประกอบวชิระทำเป็นลายดุน ภายในกรอบเป็นวงกลม ยกระดับพ่นทรายด้าน ด้านหลังเป็นตราคณะลูกเสือแห่งชาติ ขอบเหรียญเบื้องล่างมีข้อความว่า “บำเหน็จแห่งความยั่งยืน” อยู่บนพื้นพ่นทรายด้าน ด้านบนแพรแถบเป็นเข็มกลัดมีลักษณะเป็นแถบโลหะสีเงิน ภายในมีข้อความว่า “เสียชีพอย่าเสียสัตย์” ล้อมด้วยรูปเกลียวเชือกผูกเป็นปมเงื่อนพิรอด แพรแถบกว้าง ๓ เซนติเมตร มีริ้วสีแดงกว้าง ๑๑ มิลลิเมตร อยู่กลาง ริมทั้งสองข้างมีริ้วสีดำกว้าง ๓ มิลลิเมตร ถัดจากริ้วสีดำเป็นริ้วสีขาวกว้าง ๒ มิลลิเมตร และริ้วสีเหลืองอยู่ริมแพรแถบกว้าง ๔.๕ มิลลิเมตร ประดับที่อกเสื้อเหนือปกกระเป๋าเบื้องซ้าย

มาตรา ๖๓ เมื่อคณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติพิจารณาเห็นว่า ผู้ใดสมควรได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นสิริยิ่งรามกีรติ ลูกเสือสดุดีชั้นพิเศษ เหรียญลูกเสือสรรเสริญ เหรียญลูกเสือสดุดี และเหรียญลูกเสือยั่งยืน ให้นำความขึ้นกราบบังคมทูลขอรับพระราชทานต่อไป

มาตรา ๖๔ ผู้ซึ่งได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นสิริยิ่งรามกีรติลูกเสือสดุดีชั้นพิเศษ เหรียญลูกเสือสรรเสริญ เหรียญลูกเสือสดุดี และเหรียญลูกเสือยั่งยืนทุกชั้นให้ประกาศนามในราชกิจจานุเบกษา

มาตรา ๖๕ เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นสิริยิ่งรามกีรติ ลูกเสือสดุดีชั้นพิเศษ เหรียญลูกเสือสรรเสริญ เหรียญลูกเสือสดุดี และเหรียญลูกเสือยั่งยืน ให้เป็นสิทธิแก่ผู้ที่ได้รับพระราชทาน เมื่อผู้ได้รับพระราชทานวายชนม์ให้ตกทอดแก่ทายาทเพื่อรักษาไว้เป็นที่ระลึก

มาตรา ๖๖ ให้มีเข็มลูกเสือสมนาคุณ ไว้สำหรับตอบแทนผู้มีจิตศรัทธาบริจาคเงินหรือทรัพย์สินอย่างอื่นเพื่อบำรุงการลูกเสือ
เข็มลูกเสือสมนาคุณ มีลำดับเป็นสี่ชั้น ดังต่อไปนี้
เข็มลูกเสือสมนาคุณ ชั้นพิเศษ
เข็มลูกเสือสมนาคุณ ชั้นที่หนึ่ง
เข็มลูกเสือสมนาคุณ ชั้นที่สอง
เข็มลูกเสือสมนาคุณ ชั้นที่สาม
ลักษณะของเข็มลูกเสือสมนาคุณและเงื่อนไขในการให้เข็มลูกเสือสมนาคุณให้เป็นไปตามข้อบังคับคณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติ

มาตรา ๖๗ ให้มีเข็มลูกเสือบำเพ็ญประโยชน์ เพื่อส่งเสริมการบำเพ็ญประโยชน์ของลูกเสือ
ลักษณะและประเภทของเข็มลูกเสือบำเพ็ญประโยชน์ และเงื่อนไขในการให้เข็มลูกเสือบำเพ็ญประโยชน์ให้เป็นไปตามข้อบังคับคณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติ

มาตรา ๖๘ ผู้ได้รับพระราชทานเหรียญที่ระลึกสำหรับลูกเสือ หรือเหรียญลูกเสือสรรเสริญอยู่แล้วก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ จะใช้เหรียญนั้นประดับ หรือจะใช้เหรียญลูกเสือสรรเสริญตามพระราชบัญญัตินี้ประดับก็ได้ โดยเทียบชั้นดังนี้คือ
เหรียญทองคำหรือเหรียญลูกเสือสรรเสริญชั้นที่หนึ่ง เทียบเท่ากับเหรียญลูกเสือสรรเสริญชั้นที่หนึ่ง ตามพระราชบัญญัตินี้
เหรียญเงินหรือเหรียญลูกเสือสรรเสริญชั้นที่สอง เทียบเท่ากับเหรียญลูกเสือสรรเสริญชั้นที่สอง ตามพระราชบัญญัตินี้
เหรียญโลหะขาวหรือเหรียญลูกเสือสรรเสริญชั้นที่สาม เทียบเท่ากับเหรียญลูกเสือสรรเสริญชั้นที่สาม ตามพระราชบัญญัตินี้

หมวด ๖
บทกำหนดโทษ


มาตรา ๖๙ ผู้ใดแต่งเครื่องแบบลูกเสือ หรือประดับเครื่องหมายลูกเสือโดยไม่มีสิทธิ เพื่อให้บุคคลอื่นเชื่อว่าตนมีสิทธิ หรือแต่งกายเลียนแบบหรือประดับเครื่องหมายเพื่อให้บุคคลอื่นหลงเชื่อว่าตนเป็นลูกเสือหรือบุคลากรทางการลูกเสือ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือนหรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา ๗๐ ผู้ใดทำปลอมเข็มลูกเสือสมนาคุณ หรือเข็มลูกเสือบำเพ็ญประโยชน์ด้วยวิธีใดๆ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

บทเฉพาะกาล


มาตรา ๗๑ ให้โอนบรรดากิจการ ทรัพย์สิน สิทธิ หนี้สิน และงบประมาณของคณะลูกเสือแห่งชาติตามพระราชบัญญัติลูกเสือ พ.ศ. ๒๕๐๗ ไปเป็นของสำนักงานลูกเสือแห่งชาติตามพระราชบัญญัตินี้
ให้โอนพนักงานและลูกจ้างของคณะลูกเสือแห่งชาติตามพระราชบัญญัติลูกเสือ พ.ศ. ๒๕๐๗ ไปเป็นพนักงานและลูกจ้างของสำนักงานลูกเสือแห่งชาติตามพระราชบัญญัตินี้

มาตรา ๗๒ ให้สภาลูกเสือแห่งชาติ คณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติ คณะกรรมการลูกเสือจังหวัด คณะกรรมการลูกเสืออำเภอ ตามพระราชบัญญัติลูกเสือ พ.ศ. ๒๕๐๗ ปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ต่อไปจนกว่าจะได้มีสภาลูกเสือไทย คณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติคณะกรรมการลูกเสือจังหวัด และคณะกรรมการลูกเสือเขตพื้นที่การศึกษา ตามพระราชบัญญัตินี้

มาตรา ๗๓ ค่ายลูกเสือใดที่จัดตั้งและดำรงอยู่แล้วก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ให้ถือว่าได้รับการอนุญาตเพื่อจัดตั้งค่ายลูกเสือตามพระราชบัญญัตินี้

มาตรา ๗๔ ในระหว่างที่ยังมิได้ออกกฎกระทรวง ข้อบังคับคณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติ ระเบียบ ประกาศ คำสั่ง เพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้ ให้นำกฎกระทรวง ข้อบังคับคณะลูกเสือแห่งชาติ ระเบียบ ประกาศ หรือคำสั่งที่ออกตามพระราชบัญญัติลูกเสือ พ.ศ. ๒๕๐๗ ที่ใช้อยู่ในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ มาใช้บังคับโดยอนุโลม


ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์
นายกรัฐมนตรี



หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่ได้มีการปฏิรูปโครงสร้างระเบียบบริหารราชการและการจัดการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการขึ้นตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. ๒๕๔๖ ทำให้การบริหารงานของส่วนราชการที่เกี่ยวข้องกับกิจการลูกเสือเปลี่ยนแปลงไป ประกอบกับกฎหมายว่าด้วยลูกเสือได้ใช้บังคับมาเป็นเวลานานและไม่สอดคล้องกับสภาพการณ์ในปัจจุบัน จึงสมควรปรับปรุงบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว เพื่อกำหนดการดำเนินการของลูกเสือองค์ประกอบและอำนาจหน้าที่ของคณะลูกเสือแห่งชาติ คณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติ คณะกรรมการลูกเสือจังหวัด และคณะกรรมการลูกเสือเขตพื้นที่การศึกษา ตลอดจนสมควรกำหนดภารกิจให้สอดคล้องกับการลูกเสือของนานาประเทศ ทั้งนี้ เพื่อให้การลูกเสือมีความเจริญก้าวหน้าและสร้างความสามัคคีแก่คนในชาติ จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น